วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553

โคลา-โคล่า โลกาภิวัตน์แบรนด์ของอเมริกา ตอนที่ 1


ในโลกเราทุกวันนี้อยู่ในยุคของโลกาภิวัตน์ ทุกสิ่งทุกอย่างเต็มไปด้วยเทคโนโลยีและสารสนเทศต่างๆ ที่สามารถติดต่อ เชื่อมโยงกันได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที เกิดแบรนด์ต่างๆ มากมายขึ้นในแต่ละประเทศและหลายๆ แบรนด์ก็ได้สร้างความเป็นเอกลักษณ์ สะท้อนถึงความนิยมของสังคมได้เป็นอย่างดี และหนึ่งในแบรนด์ที่ได้สร้างความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนเป็นแรงขับเคลื่อนอเมริกาให้ก้าวไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์และกลายเป็นมหาอำนาจชั้นนำของโลกนั้นก็คือ โคคา-โคลา หรือที่นิยมเรียกกันชื่อ โค้ก นั่นเอง

เป็นที่ทราบกันว่าอิทธิพลของโค้กนั้นมีมากมาย ได้รับความนิยมแพร่หลายไปจนทั่วโลก แทบไม่มีชาติใดที่จะไม่รู้จักเครื่องดื่มน้ำดำชนิดนี้ การเติบโตของโค้กนั้นเริ่มต้นมาจากดินแดนสหรัฐอเมริกา ประเทศเกิดใหม่ที่ต้องการความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพ และความเป็นลัทธินิยมสมัยใหม่ ซึ่งโค้กนั้นก็เหมาะสมที่มารับในตำแหน่งนี้ โค้กคือ ผู้นำเทรนด์ของอเมริกาและของโลกตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงในปัจจุบัน เหมือนอย่างที่บารัค โอบามา ที่เชื่อว่า Change และ Hope คือ หนทางที่นำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า จนกระทั่งคำว่า Change กลายเป็นเทรนด์ไปแล้วนั่นเอง ซึ่งต้นกำเนิดและเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของโค้กซึ่งเติบโตควบคู่ไปกับการเจริญไปสู่ข้างหน้าของสหรัฐอเมริกาเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ซึ่งทำให้เห็นถึงบทบาทของโค้กที่มีต่อโลกโดยผ่านสหรัฐอเมริกาอเมริกาได้ชัดเจนขึ้น

แม้ลัทธิอุตสาหกรรมและลัทธิบริโภคนิยมจะถือกำเนิดขึ้นในอังกฤษ แต่มันไปเฟื่องฟูอย่างเต็มที่ในสหรัฐอเมริกา กุญแจความสำเร็จนั้นมาจากวิถีผลิตในระบบอุตสาหกรรมแบบใหม่ที่ชาวอเมริกันคิดค้นขึ้น ย้อนกลับไปในสมัยก่อนอุตสาหกรรม ชาวอังกฤษพัฒนาระบบอุตสาหกรรมที่แบ่งการผลิตออกเป็นชิ้นๆ และพยายามอาศัยเครื่องจักรเข้ามาช่วยประหยัดแรงงาน แต่ระบบของชาวอเมริกันกลับมีความก้าวหน้ายิ่งกว่า พวกเขาได้จัดการแยกการผลิตและการประกอบชิ้นส่วนออกจากกัน นำเครื่องจักรเฉพาะด้านมาผลิตชิ้นส่วนพื้นฐานสำหรับนำไปประกอบในผลิตภัณฑ์ ระบบนี้เริ่มขึ้นจากการผลิตปืน ก่อนจะไปปรากฏในการทำจักรเย็บผ้า จักรยาน รถยนต์ และสินค้าอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ได้สร้างรากฐานอุตสาหกรรมในสหรัฐให้แข็งแกร่ง เพราะสามารถผลิตสินค้าได้คราวละมากๆ อันเป็นระบบที่เหมาะกับสินค้าบริโภคสำหรับตลาดและปูทางไปสู่ลัทธิบริโภคนิยมที่จะกลายเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตแบบอเมริกัน ประกอบกับสภาพของอเมริกาในศตวรรษที่ 19 นั้นเหมาะสมกับการพัฒนาของลัทธิบริโภคนิยม อเมริกามีวัตถุดิบมากมาย มีแรงงานทักษะสูง และเปิดโอกาสให้แรงงานไร้ฝีมือเข้าไปทำงานกับเครื่องจักรได้ไม่แพ้นายช่างเลย นอกจากนี้ประเทศใหม่ที่ยังคงไร้ซึ่งวัฒนธรรมอย่างสหรัฐอเมริกายังไม่มีปัญหาเรื่องค่านิยมในถิ่นฐานหรือค่าบรรทัดฐานเหมือนอย่างในยุโรป ทำให้สามารถผลิตสินค้าปริมาณมากออกไปขายได้ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับความนิยมของลูกค้าแต่ละกลุ่ม (และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ว่า ทำไมวงการหนังฮอลลีวูดจึงได้รับความนิยมสูงสุดจากคนทั่วทั้งโลก - ผู้เขียน) ตลาดของอเมริการุดหน้าไปอย่างรวดเร็วจนอังกฤษต้องหันมาพึ่งเครื่องจักรจากอเมริกา ครั้นถึงปี 1900 อังกฤษก็ต้องสูญเสียตำแหน่งประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกให้แก่สหรัฐอเมริกาความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของอเมริกานี่เอง ที่กำหนดให้โค้กได้ช่วยในการให้อเมริกาก้าวไปสู่ความเป็นประเทศผู้นำระดับโลกได้

ต้นกำเนิดของโค้ก ซึ่งรวมไปถึงน้ำอัดลมยี่ห้อทั้งหลายนั้นต่างพัฒนามาจากโจเซฟ เพรสต์เลย์ นักบวชและนักวิทยาศาตร์ชาวอังกฤษคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในโรงเบียร์เมืองลีดส์เมื่อปี 1767 ซึ่งเขาได้สงสัยถึงที่มาของก๊าซที่ปรากฏเป็นฟองอยู่ในถังหมักเบียร์ และได้ค้นพบว่าก๊าซนี้หนักกว่าอากาศ เขาได้ทดลองเทน้ำสลับแก้วอย่างรวดเร็วเหนือถังหมัก จนก๊าซถูกผสมเข้ากับน้ำ เกิดเป็นน้ำรสซ่าที่น่าพอใจ(ซึ่งปัจจุบันก๊าซชนิดนี้คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ และน้ำที่เพรสต์เลย์ค้นพบก็คือน้ำโซดา) ต่อมาเขาได้ค้นพบกรรมวิธีทำน้ำโซดาที่ง่ายกว่าเดิม ด้วยการทำปฏิกิริยาเคมีให้เกิดก๊าซในขวดหนึ่ง แล้วเทมันลงไปในขวดอีกใบที่ใส่น้ำพร้อมอยู่แล้ว เมื่อก๊าซไหลลงมาอยู่ในขวดที่สองมากพอ ก็เขย่าขวดให้น้ำและก๊าซผสมกัน จนบรรดานักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเพรสต์เลย์ได้ค้นพบสิ่งที่มีสรรพคุณทางการแพทย์

แม้เพรสต์เลย์จะเป็นผู้ค้นพบการทำน้ำโซดา แต่ผู้ที่นำการค้นพบนี้ไปสร้างเป็นกำไรคนแรกกลับเป็น โทมัส เฮนรี นักเคมีและเภสัชกรชาวแมนเชสเตอร์ โดยเขาได้ผลิตน้ำอัดลมออกวางขายเป็นยาในช่วงต้นทศวรรษ 1770 เขาติดตามความพยายามเรื่องการผลิตน้ำแร่ขึ้นเองอย่างใกล้ชิด และเชื่อว่ามันมีผลดีต่อสุขภาพ ช่วยแก้ไข้ โรคบิด อาการคลื่นไส้อาเจียน และอื่นๆ เขาผลิตโซดาได้มากถึงคราวละ 12 ขวด อีกทั้งยังเสนอให้ดื่มผสมกับน้ำมะนาวซึ่งเกิดจากการผสมน้ำ น้ำตาล และน้ำมะนาว จึงอาจกล่าวได้ว่า เขาเป็นผู้บุกเบิกการขายน้ำหวานรสซ่าที่ผ่านการอัดลม

ในขณะที่น้ำซ่ารสต่างๆ กำลังได้รับความนิยมไปทั่วยุโรปนั้น ในสหรัฐอเมริกาก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน และอาจมีมากกว่าเสียด้วย โดยจอห์น แมตทิวส์ อดีตคนขายน้ำโซดาในอังกฤษที่ได้อพยพมาสู่นิวยอร์ก ในช่วงแรกนั้นแมตทิวส์สนใจแต่การผลิตและขายโซดาของตน ก่อนจะหันไปเอาดีด้านน้ำพุโซดา แต่เมื่อลูกชายของเขาได้เข้ามาร่วมสานต่อธุรกิจ แมตทิวส์จึงได้ถือโอกาสขยายกิจการออกไป ลูกชายของเขาซึ่งสนใจเรื่องการประดิษฐ์ได้สร้างเครื่องจักรที่สามารถผลิตน้ำโซดาได้โดยอัตโนมัติ นับตั้งแต่การสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ จนถึงการสร้างขวด และยังได้ขายเครื่องจักรเหล่านี้แก่บริษัทอื่นๆ ด้วย พอถึงปี 1877 บริษัทของแมตทิวส์ก็เป็นเจ้าของสิทธิบัตรกว่าร้อยรายการและขายเครื่องจักรได้กว่า 20,000 เครื่อง นับเป็นตัวอย่างการผลิตสินค้าคราวละมากๆ ในแบบอเมริกัน ที่มีเครื่องมือเฉพาะอย่างคอยทำการผลิตในแต่ละขั้นตอน ขวดและฝาปิดถูกผลิตให้มีขนาดมาตรฐานเป็นชิ้นส่วนที่สามารถผลิตขึ้นคราวทีละมากๆ สำหรับใช้ต่อไปได้เรื่อยๆ จนเกิดเป็นเครื่องดื่มซึ่งสามารถผลิตได้ในปริมาณมหาศาลในราคาถูกแสนถูก เพื่อตอบสนองความต้องการของมวลชน

โซดาที่มีกำเนิดมาจากการเป็นยามาก่อนที่จะแพร่หลายออกไปในฐานะเครื่องดื่มดับกระหาย สรรพคุณความเป็นยาช่วยให้มันได้รับการยกย่อง นับตั้งแต่ปี 1809 ตำราเคมีของอเมริกาบรรจุข้อความไว้ว่า “น้ำโซดาช่วยดับกระหายได้ดียิ่ง มันเป็นเครื่องดื่มในดวงใจของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่รู้สึกร้อนและเหนื่อยล้า” นอกจากดื่มกันเพียวๆ แล้ว ยังสามารถนำโซดาไปผสมกับน้ำมะนาวให้มีรสซ่า (ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องดื่มสมัยใหม่ชนิดแรกของโลกที่มีรสซ่า) นอกจากนั้น ในต้นศตวรรษที่ 19 ผู้คนจากทั้งสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกยังเริ่มผสมโซดาเข้ากับไฟด้วย เรียกว่า ไวน์สปริตเซอร์ (Wine Spritzer) และต่อมาน้ำโซดาในสหรัฐอเมริกาก็มักถูกแต่งรสด้วยน้ำเชื่อมเป็นหลัก

น้ำโซดาที่ผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมนั้น เป็นที่นิยมดื่มในทุกชนชั้น ไม่ว่าจะจนหรือรวย จนดูเหมือนจะเป็นตัวแทนจิตวิญญาณอเมริกันอันเยี่ยมยอด ดังที่แมรี่ เกย์ ฮัมเฟร์ นักประพันธ์และนักวิจารณ์สังคมเขียนไว้ในวารสารฮาร์เปอร์วีกลี่ ฉบับปี 1891 ว่า “น้ำโซดาซึ่งผู้คนทุกชนชั้นต่างเข้าถึงได้ถ้วนหน้า ช่างเหมาะสมกับการเป็นเครื่องดื่มประจำชาติเราจริงๆ” จะเห็นได้ว่า แนวคิดการนำเครื่องดื่มมาเป็นสัญลักษณ์ประจำชาตินั้น มีขึ้นมาตั้งแต่สมัยเริ่มสร้างอเมริกาในช่วงแรกๆ แล้ว แต่ก็ถูกเพียงครึ่งเดียว เนื่องจากน้ำโซดาเป็นเพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่งของเครื่องดื่มประจำชาติอเมริกาที่แท้จริงที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้เท่านั้น

เครื่องดื่มประจำชาติอเมริกาที่ว่านั้นก็คือโคคา-โคลา หรือ โค้ก นั่นเอง โดยผู้ให้กำเนิดเจ้าน้ำดำชนิดนี้คือ จอห์น เพมเบอร์ตัน (John Smith Pemberton) ซึ่งการค้นพบเครื่องดื่มน้ำดำรสซ่าของเขานี้ถือเป็นความบังเอิญ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า สิ่งที่ดังและมีชื่อเสียงต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีที่มาจากความบังเอิญแทบทั้งสิ้น เรื่องก็มีอยู่ว่า เขาพยายามอย่างยิ่งที่จะหาทางรักษาอาการปวดหัว ก็ได้ผสมยาต่างๆ เรื่อยมาจนในวันหนึ่งที่เป็นวันแห่งการค้นพบ ในวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1886 ณ สนามหญ้าหลังบ้านของเขา ที่เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย โดยนำส่วนผสมต่างๆ อันประกอบไปด้วย น้ำมะขาม อบเชย ใบโคคา และเมล็ดโคลาคลุกเคล้าลงในหม้อจนได้ของเหลวสีคาราเมล จากนั้นนั้นเขาก็นำไปให้ยังร้านขายยาที่อยู่ใกล้ๆ กันได้ลองชิม ซึ่งทุกคนต่างชอบในรสชาติที่รู้สึกดีของมัน แล้วยังมีการเอาไปแช่เย็นก็พบว่ารสชาติยิ่งอร่อยขึ้น และท้ายสุดก็ได้นำน้ำโซดาผสมลงไปจนกลายเป็นเครื่องดื่มที่ชูกำลังที่มีรสชาติหวานและซู่ซ่า เป็นจุดกำเนิดเริ่มต้นของเครื่องดื่มน้ำดำชนิดนี้ (ก่อนที่จะมาเป็นชื่อโคคา-โคล่านี้ เดิมทีมันชื่อว่า ไวน์โคคาแบบฝรั่งเศส (French Wine Coca)
หลายคนอาจจะเกิดความสงสัยว่า เจ้าส่วนผสมที่เรียกว่าโคคาและโคลานั้น มันคืออะไร มีที่มาจากไหนกันแน่ ซึ่งโคคานั้นก็เป็นชื่อของต้นโคคา มีถิ่นกำเนิดที่อเมริกาใต้ ได้ยินชื่อแล้วอาจจะคุ้นก็เนื่องจากสารที่อยู่ในใบโคคานี่แหละที่นำมาทำเป็นโคเคน การเคี้ยวใบโคคาก็เหมือนกับการได้รับโคเคนไปจำนวนหนึ่งเลยทีเดียว แต่มีการแยกสกัดสารโคเคนออกจากใบโคคาได้ในปี 1855

ส่วนโคลา มันก็คือต้นโคลา ถิ่นกำเนิดคือแอฟริกาตะวันตก โดยแยกสารสกัดออกจากเมล็ดโดยเฉพาะในต้นอ่อน ของต้นโคลา ซึ่งสารสกัดที่ได้มานั้น มันก็คือสาระสำคัญที่อยู่ในกาแฟ คาเฟอีนนั่นเอง



(To be continue)



1 ความคิดเห็น:

  1. อ่านแล้วได้ควารู้เยอะเลย
    ปล. ตอนนี้เราไม่ได้ดื่มแล้วอะโค้ก ไม่ได้ดื่มมาเกือบสามปีแล้วมั้ง ไม่รู้ทำไม อยู่ๆ ก็เบื่อมันไปอย่างนั้น อาจจะเป็นเพราะว่ามันซ่าเกินไปก็ได้นะ

    ตอบลบ